Sunday, December 21, 2014

การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน

วันที่ 9 ธันวาคม 2557 

แกะรอย "รวยอสังหาฯ" "ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย"


ก่อนอายุ 30 ปี ต้องโกยอสังหาฯครอบครอง 100 แห่ง“ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย” เซียนอสังหาฯอายุน้อย บอกจุดยืนตัวเอง
หลายครั้งที่มักพบอดีตของ“คนรวย” คือ “คนเคยจน”เฉกเช่นเดียวกันวันวานของ“ปิง-ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย ชายหนุ่มวัย 28 ปี ที่เคยถูกความจนบีบบังคับให้ต้องใช้ชีวิตอย่างสุขไม่เต็มร้อย “ทำอย่างไรถึงจะรวย” ใครจะรู้ว่าก่อนจะกลายเป็น “นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์มือฉมัง”คำถามเหล่านี้เคยวนเวียนอยู่ในหัวของเขา
แม้จะเพิ่งก้าวขาสู่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ตอนอายุ 25 ปี แต่วันนี้ “หนุ่มปิง” ในฐานะ Master Trainer และ International Speakers ประจำ บริษัท แม็กซิมั่มโพเทนเชียลพาร์ทเนอร์ส จำกัด สามารถสอนคนให้สร้างเงิน 1 ล้านบาทแรกได้แล้วกว่า 200 คน จากทั้งหมดที่สอนไป 2,000 คน ที่สำคัญเขายังครอบครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านและคอนโดมิเนียมในแถบกรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ และประเทศมาเลเซียแล้วประมาณ 60 แห่ง
“ก่อนอายุ 30 ปี ต้องครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ 100 แห่ง และก่อนอายุ 35 ปี ต้องมีอสังหาริมทรัพย์ 1,000 แห่ง” “ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย” บอกเป้าหมายการลงทุนของตัวเองให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง
ก่อนจะเล่าถึงวิถีทางเดินสู่เป้าหมาย เขาย้อนความหลังให้ฟังว่า ก่อนจะมีเงินมากพอส่งน้องชายคนเดียวเรียน “ดอกเตอร์” คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอดีตฐานะการเงินทางบ้านเข้าขั้นลำบากมาก พ่อแม่เปิดร้านเล็กๆ ขายอุปกรณ์ช่างย่านคลองถม ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโตจึงรับหน้าที่ช่วยที่บ้านทำงานตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เห็นช่วงเวลาที่เจ้าหนี้ส่งชายฉกรรจ์ 5-6 คน มายกของในบ้านแทนเงินสดที่ติดค้างอยู่
แม้ว่าตอนนั้นยังเด็กมาก แต่ก็มักคิดในใจบ่อยๆว่า จะหาเงินมาช่วยพ่อแม่ให้หลุดพ้นความยากจนได้อย่างไร ด้วยความที่ช่วยครอบครัวทำงานมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ช่วงอายุ 15 ปี เริ่มจะคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันไม่รู้เรื่อง เมื่อสนทนากันคนละทาง เราจึงเริ่มใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ ในการอ่านหนังสือพัฒนาตนเอง เช่น เรื่องพ่อรวยสอนลูก ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” เรื่องคิดอย่างไรให้รวย ของ “นโปเลียน ฮิลล์” รวมถึงหนังสือของนักเขียนชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น “ไบรอัน เทรซี่” และ “แอนโทนี่ ร็อบบินส์”
เมื่อความรู้สึกที่ว่า “โตมาต้องรวย โตมาต้องดีและเก่งกว่าคนอื่น” วนเวียนอยู่ในสมองทุกวัน ทำให้เขาแทบไม่สนใจการเรียนจนเพื่อนพูดท้าทายว่า “คนอย่างแกคงสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด” ด้วยความอยากเอาชนะจึงตัดสินใจฟิตอ่านหนังสือ 2 เดือนเต็ม สุดท้ายเราสอบเข้าคณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำเร็จ
ช่วงเรียนจบใหม่ๆ ชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่า การที่จบการศึกษาจากมธ.จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีกว่าคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย ใครจะรู้ว่า การจบคณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยาจะสามารถสมัครงานได้เพียง 2 ตำแหน่ง นั่นคือ พนักงานทรัพยากรมนุษย์ หรือ Human Resource และพนักงานขาย หรือ Sales
เมื่อ 6 ปีก่อน ตัดสินใจสมัครงานในตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานขาย หรือ Sales Coordinator ของ บมจ.ค้าเหล็กไทย หรือ TMT รับเงินเดือน 9,000 บาท หักภาษีและประกันสังคมแล้ว (ยิ้ม) ตอนนั้นเราคิดว่า อาชีพนี้น่าจะตอบโจทย์ความร่ำรวยได้ เมื่อนั่งทำงานได้ 8 เดือน ถูกเลื่อนตำแหน่งไปเป็น Sales Executive รับเงินเดือนบวกค่าคอมมิชชั่นกว่า 40,000 บาท
“เงินเพิ่มขึ้น 4 เท่า น่าจะมีเงินช่วยครอบครัวได้แล้ว แต่แปลกสุดท้ายก็ไม่เหลือเก็บอยู่ดี ทั้งๆที่เป็นคนใช้เงินไม่เก่ง กินข้าวยังไม่ซื้อน้ำกินเลยมาอาศัยกินน้ำเปล่าในออฟฟิค”
ทำงานผ่านไป 3 ปี ตอนนั้นอายุ 24 ปี เรามีเงินเดือนพุ่งขึ้นเป็น 6 หลัก หลังถูกยกระดับให้เป็น TOP SALE หรือ คนที่มียอดขายอันดับต้นๆของบริษัท แต่แม้จะมีรายได้สูง แต่เงินก็ไม่เหลือเก็บเหมือนเคย จนวันหนึ่งไปอ่านหนังสือเรื่อง “ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน” หรือ Secret of millioniare mind ของ T.Harv Eker ทำให้รู้ว่า “ไม่สำคัญว่าคุณจะมีเงินเท่าไหร่ ตราบใดที่คุณยังมี Mindset หรือกระบวนการทางความคิดของคนจนอยู่ในสมอง”
หนังสือเล่มนี้สอนว่า เราควรจัดระบบการเงินด้วย “ทฤษฎี six jars” ซึ่งแต่ละกระปุกมีกฎว่า “ปรับเพิ่มได้แต่ห้ามปรับลด”โดย “กระปุกแรก” เราจะเรียกว่า FFA ย่อมาจาก Financial Freedom Account คือ ต้องเก็บเงินเข้าบัญชี 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปลงทุนต่อให้เงินมันงอกเงย “กระปุกที่ 2” LTSS ย่อมาจาก Long Term Saving for Spending คือ ต้องกั้นเงินไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว “กระปุกที่ 3” EDUC ย่อมาจาก Education Account คือ ต้องเก็บเงินไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปใช้ในศึกษาหาความรู้ให้ตัวเอง ด้วยการลงเรียนคอร์สต่างๆ
“กระปุกที่ 4” NEC ย่อมาจาก Necessities Account คือ เก็บไว้ 55 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน “กระปุกที่ 5”Play คือ เก็บไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปใช้ตามความต้องการของตัวเอง และ “กระปุกที่ 6” Give คือ แบ่งไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำเงินไปใช้บริจาค วิธีการ คือ เมื่อมีรายรับเข้ามาแล้วต้องโอนเงินไปไว้ในบัญชีตามสัดส่วนที่กำหนด แต่ถ้าวันนี้ยังไม่สามารถแบ่งเงินออกเป็น 6 กระปุกได้ หนังสือแนะนำว่า ให้แบ่งเงินไปไว้ในกระปุกที่ 4 จำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 5 กระปุกให้แบ่งไว้กระปุกละ 2 เปอร์เซ็นต์
หลังแบ่งเงินออกเป็น 6 กระปุก ฐานะการเงินดีขึ้นมาก (ลากเสียงยาว) จากคนไม่เคยมีเงินเก็บเกิน 30,000 บาท เปลี่ยนเป็นมีเงินเก็บ 6 หลัก ในระยะเวลาไม่นาน จากนั้นไม่นานมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “พ่อรวยสอนปลุกอัจฉริยภาพทางการเงิน”หรือ Increase Your Financial IQ ของ “โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ” ซึ่งในหนังสือบอกว่า “ถ้าวันนี้อยากรวยต้องลงทุน”
ตอนนั้นอายุ 25 ปี ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลยสักนิด ด้วยความที่เห็นรุ่นพี่ที่ทำงานศึกษาเรื่องตลาดหุ้นมาอย่างดีระดับหนึ่ง จึงตัดสินใจเดินไปขอคำแนะนำ แต่เขาก็ทำลายความหวังอยากรวยจนหมดสิ้น ด้วยการดีดเครื่องคิดเลขให้ดูผลตอบแทนจากตลาดหุ้น เขาบอกว่า ตามสถิติตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหากวันนี้คุณมีเงินเก็บแค่ 30,000 บาท คุณจะได้กำไรเดือนละแค่ 200 บาทเท่านั้น ในระยะเวลา 1 ปี
แม้จะเชื่อรุ่นพี่หมดใจว่า เล่นหุ้นได้กำไรน้อย แต่ก็ได้ทดลองลงทุนด้วยตนเอง ด้วยการเปิดพอร์ตหุ้นมูลค่า 50,000 บาท กับบล.กสิกรไทย หุ้นตัวแรกน่าจะเป็น หุ้น ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ต้นทุน 25 บาท ถือไป 3 เดือนราคานิ่ง ตัดสินใจขายออกตอน 26 บาท ถามว่าทำไมต้องเป็นหุ้น MINT บังเอิญช่วงนั้นเข้าร่วมโครงการ KS The Young Turk ของบล.กสิกรไทย แล้วคนสอนเล่นหุ้นเขาเชียร์ให้ซื้อตัวนี้ (หัวเราะ)
เมื่อเริ่มรู้สึกว่า เล่นหุ้นไม่ถูกกับจริตเลยตัดสินใจหันไปศึกษาเรื่องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการไปนั่งฟังสัมมนาในหัวข้อ ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ต้องใช้เงินของตัวเอง การฟังในครานั้น เชื่อหรือไม่!! เปลี่ยนชีวิตของชายชื่อปิงอย่างสิ้นเชิง หลังจากผ่านงานสัมมนามา 3 เดือน ตัดสินใจซื้อบ้านหลังแรกที่อยู่ในช่วง Pre-Sale (เปิดจำหน่ายอย่างไม่เป็นทางการ) ในราคา 4.2 ล้านบาท ด้วยวิธีการกู้เงินแบงก์ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้เงินสด 10 เปอร์เซ็นต์
หัวใจการลงทุนในครั้งนั้น คือ “ต้องกำไรตั้งแต่ซื้อ” เขาอธิบายว่า จริงๆ บ้านหลังนั้นในตลาดตั้งราคาขายไว้ที่ 5.2 ล้านบาท แต่เราสามารถขอซื้อจากเจ้าของเดิมได้ในราคา 4.2 ล้านบาท ทำให้ได้กำไรก้อนแรกทันที 1 ล้านบาท ตอนนั้นตัดสินใจปล่อยเช่าบ้านหลังนั้นเดือนละ 55,000 บาท เพื่อนำเงินส่วนต่าง ประมาณ 30,000 กว่าบาท ไปผ่อนเงินกู้บ้านกับแบงก์ ส่วนเงินที่เหลืออีก 20,000 กว่าบาท นั่นคือ กำไร ปัจจุบันยังไม่ได้ขายบ้านหลังนี้ เพราะปล่อยเช่าได้สูงถึงเดือนละ 60,000 บาท
หลังจากนั้น 2-3 เดือน ก็ตัดสินใจซื้อบ้านหลังที่ 2 ต่อทันที ก่อนจะทยอยซื้อเพิ่มเติมมาเรื่อยๆจนปัจจุบันมีบ้านและคอนโดมิเนียมอยู่ในมือประมาณ 60 แห่ง ส่วนใหญ่จะปล่อยเช่า หากขายได้กำไรดีก็จะปล่อยออกไป ส่วนวิธีการขาย คือ “ต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ถูกกว่าราคาตลาด 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วจงปล่อยออกให้ถูกกว่าราคาตลาด 10 เปอร์เซ็นต์”
พักหลังๆ เริ่มหันมา “เก็บของเก่าขาย” หลังพบว่า มีช่องว่างในการทำกำไรมากกว่าของมือหนึ่ง เพราะหากคนซื้อและคนขายตกลงกันที่ราคาไหน ก็สามารถขายราคานั้นได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงราคาตลาด ทำให้เราสามารถซื้อได้ถูกกว่าราคาตลาดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันก็สามารถปล่อยของได้ถูกกว่าราคาตลาด 10-15 เปอร์เซ็นต์
“มีคนชอบถามผมว่าจะหาเงิน 1 ล้านบาทแรกอย่างไร ง่ายมากเลย คุณใช้เงิน 100,000 บาท ซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ได้ถูกกว่าตลาด 100,000 บาท แค่นี้ก็ได้เงินแสนมาครองแล้ว”
ถามว่าอสังหาริมทรัพย์ 60 แห่ง ที่มีอยู่ในมือสร้างได้สร้างผลตอบแทนให้แล้วเท่าไหร่ “ปิง” ตอบว่า จริงๆไม่ค่อยอยากบอกตัวเลข แต่กำไรที่ได้รับจากค่าเช่าทุกเดือน ก็ทำให้อยู่อย่างสุขสบาย โดยไม่ต้องดิ้นรนอย่างน้อย 20-30 ปี แต่หากจะขายทำกำไรอย่างน้อยน่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาประมาณ 50-200 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาเวลาขายทำกำไรก็จะได้ผลตอบแทนตัวเลขนั้น แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าใช้เงินธนาคาร 90 เปอร์เซ็นต์ เงินตัวเอง 10 เปอร์เซ็นต์ และต้องกำไรตั้งแต่ซื้อ
ปัจจุบันยังได้บริหารพอร์ตลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเพื่อนบางคน โดยเงื่อนไขการลงทุน เราจะไม่การันตีผลตอบแทน แต่ส่วนตัวจะพยายามสร้างกำไรให้ได้ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุน ทุกครั้งก่อนนำเงินของเพื่อนไปซื้ออะไรจะพาเขาไปดูของจริงก่อน เพื่อให้เขาได้รู้ถึงวิธีการเลือกอสังหาริมทรัพย์ เป้าหมายการบริหารพอร์ตให้เพื่อนไม่ใช่คิดเพียงแต่เรื่องกำไร แต่อยากให้เขาลงทุนเป็นเหมือนที่เราทำเป็น
“ซื้ออสังหาริมทรัพย์หนึ่งแห่งจะใช้เวลาในการปล่อยตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึงยังขายไม่ออก (หัวเราะ) แต่วัตถุประสงค์ในการลงทุนจริงๆ คือ ซื้อมาปล่อยเช่ามากกว่าขาย หากขายได้ราคาดีนั่นคือ โบนัส”
“ขวัญชัย” เล่าถึงวิธีการเดินไปถึงเป้าหมาย 100 แห่ง ก่อนอายุ 30 ปี และ 1,000 แห่ง ก่อนอายุ 35 ปีว่า ต้องย้อนถึงที่มาที่ไปก่อนว่า หลายปีที่ผ่านมาผมเสียเงินค่าฟังสัมมนาต่างประเทศมาเป็นล้านแล้ว เมื่อตอนอายุ 25 ปี เคยบินไปฟังสัมมนาที่ประเทศมาเลเซีย ตอนนั้นมีอสังหาริมทรัพย์ในมือ 3 แห่ง ซึ่งเราคิดแล้วว่า “เจ๋ง”
แต่เมื่อไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 21 ปี เธอมีอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 50 แห่ง โดยเริ่มซื้อตั้งแต่อายุ 19 ปี ทั้งๆที่ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ แต่เธอบอกกับตัวเองว่า แม้ไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่มีปัญหาที่จะลงมือทำ จากนั้นมีโอกาสไปเจอนักลงทุนชาวอังกฤษ เขามีอสังหาริมทรัพย์ในมือ 700 แห่ง ภายในระยะเวลา 15 ปี หลังจากเจอนักลงทุนสองคนนี้ ทำให้ต้องกลับมาตั้งเป้าหมายการลงทุนใหม่
“ช่วงเดินทางไปมาเลเซียเมื่อปีก่อน มีโอกาสไปซื้อคอนโดมิเนียมใน Johor Bahru มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ทำเลตรงนี้น่าสนใจมาก อนาคตน่าจะไปได้ดี”
สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมาย แน่นอนว่าคงต้องการทำงานอย่างหนักมาก ซึ่งเป้าหมาย 100 แห่ง หรือ 1,000 แห่ง ไม่ได้หมายความว่า ต้องมี 100 ทำเล หรือ 1,000 ทำเล หนึ่งทำเลอาจมีเป็นหลายสิบยูนิตก็ได้ ซึ่งการที่จะหายูนิตมากๆในทำเลดีๆนั้น คุณต้องมีเอเจนท์ที่ดี เพราะทำงานคนเดียวคงไม่สามารถต้องรองราคา และเดินสายดูทำเลได้ทุกแห่ง
เมื่อถามถึงวิธีการเลือกอสังหาริมทรัพย์ “ปิง” เล่าว่า หากคิดจะซื้อของมือสองคงต้องดูราคาเป็นหลัก เน้นถูกกว่าราคาตลาด แต่ถ้าเป็นของมือหนึ่งคงซื้อถูกกว่าตลาดยาก ฉะนั้นให้ดูทำเลเป็นหลัก ยิ่งแถวไหนกำลังจะมีความเจริญเข้าไปต้องรีบไปสำรวจ ส่วนตัวจะใช้เวลาดูพื้นที่ใหม่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1เดือน แต่หากเป็นพื้นที่คุ้นชินจะตัดสินใจซื้อเลย พื้นที่ที่คุ้นเคยคงต้องยกให้แถวพร้อมพงษ์ยาวไปถึงพระโขนง เพราะที่ผ่านมาปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมหลายแห่งให้กับชาวญี่ปุ่น
ปัจจุบันกำลังพิจารณาหนึ่งดีล ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างนำดีลดังกล่าวไปเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับอีก 5 ดีล หากตัดสินใจลงทุนคงได้เห็นฝันเป็นจริง เพราะหนึ่งดีลจะมีหลายสิบยูนิต นอกจากนั้นล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญาลงทุน 140 ล้านบาท ร่วมกับเพื่อนๆ สิบกว่าคน เพื่อซื้อคอนโดมิเนียมแถวพัทยาที่อยู่ระหว่างก่อสร้างประมาณ 48-50 ยูนิต ตั้งใจว่า เมื่อคอนโดมิเนียมแล้วเสร็จในต้นปี 2558 จะปล่อยให้ต่างชาติที่มาทำงานในเมืองไทยเช่า ค่าเช่าเฉลี่ยมีหลายราคาน่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ 20,000-45,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้เรามีลูกค้าแล้ว หลังไปดีลกับบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง
“ก่อนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องรู้ก่อนว่าใครคือ ลูกค้า”
“ปิง” ถือโอกาสแนะนำนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์มือใหม่ว่า ก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไร คุณต้องค้นหาตัวเองให้ได้ก่อน ด้วยการอ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อตามหาไอดอลให้เจอ เมื่อพบแล้วอย่าเพิ่งโฟกัสว่าจะทำกำไรให้ได้เท่าไหร่ แต่จงออกไปตามหาอสังหาริมทรัพย์ที่คุณชอบ เมื่อเจอของถูกใจแล้วคุณจะรู้ได้เองว่าจะหาเงินลงทุนมาจากไหน
ถามว่าควรลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทไหน หลักๆ ก็มีโครงการที่อยู่ในช่วง Pre-Sale และโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เมื่อซื้อมาแล้วพบว่า ปล่อยเช่าน่าจะได้กำไรดีกว่าก็ควรจะทำ แต่ถ้าขายแล้วได้กำไรมากกว่าก็ไม่ผิดกติกา ถามต่อว่า หากจะปล่องของจะไปหาลูกค้าจากที่ไหน ลูกค้าหลักๆมีด้วยกัน 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ผู้บริโภคโดยตรง หรือ End User กลุ่มสอง คือ นักลงทุน หรือ Investors กลุ่มสาม คือ โบรกเกอร์ ซึ่งการขายในแต่ละกลุ่มจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกและกลุ่มสอง เราต้องรอให้เขามาหาเราเอง ซึ่งเขาจะเข้ามาเราตามการประกาศขายทางอินเตอร์เน็ต โบรกเกอร์ หรือประกาศขายหน้าโครงการ จริงๆ ทำไปสักพักคุณจะรู้เลยว่าต้องขายของให้ใคร ซึ่งลูกค้ากลุ่มสองจะขายได้คล่องตัวสุด
ส่วนกลุ่มที่สาม เขาจะหักค่านายหน้าเราประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็สามารถบวกเข้าไปในราคาขายได้เลย ส่วนตัวชอบใช้บริการโบรกเกอร์ “วินเนอร์ เอสเตท” เพราะเขามีเครือข่ายเยอะมาก และมีระบบการเทรนนิ่งพนักงานที่ดี หลายคนมีทัคนคติที่ดีในการให้บริการ
ข้อแตกต่างระหว่างการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กับตลาดหุ้น คือ อสังหาริมทรัพย์มีแบงก์คอยสนับสนุนด้านการเงินแต่ตลาดหุ้นไม่มี นั่นหมายความว่า หากจะลงทุนอสังหาริมทรัพย์เราสามารถใช้เงินคนอื่น เพื่อทำให้ตัวเราใหญ่ขึ้นได้ ข้อดีอีกอย่างของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ คือ อสังหาริมทรัพย์เปรียบเหมือนปัจจัย 4 คนคงไม่หยุดซื้อ ตราบใดที่ประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี
“อย่าศึกษาการลงทุนพร้อมกันสองอย่าง ควรเว้นระยะห่าง 6 เดือน 1 ปี แต่ถ้าเชี่ยวชาญการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็สามารถทำได้ ช่วงนี้หากมีเวลามักเล่นเก็งกำไรในหุ้นหวือหวา แต่เล่นไปเล่นมาทำให้เห็นว่า หุ้นเก็งกำไรเล่นแล้วไม่คุ้มเสีย ได้ค่าขนม แต่เสียค่าอาหาร”

No comments: